วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

รู้จัก ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย

รู้จัก ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย


ไข้รากสาดน้อย ไทฟอยด์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia

          ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบได้ทั่วโลก แต่จะพบบ่อยในภูมิประเทศเขตร้อน แน่นอนว่าในประเทศไทยเองก็เช่นกัน วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย มาบอกต่อกันค่ะ

          ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย (Typhoid fever; Enteric fever) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่า ไทฟี่ ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาหารที่ทำให้เกิดโรคคือ อาหารจำพวกนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์

อาการของผู้ป่วย ไทฟอยด์

          หลังจากเชื้อซาลโมเนลล่า ไทฟี่เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะใช้ระยะฟักตัวอยู่ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นเชื้อจะแพร่เข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

          โดยทั่วไปแล้วการดำเนินโรคไทฟอยด์ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ กินเวลาระยะละประมาณ 1 สัปดาห์ โดยสัปดาห์แรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ทานยาลดไข้ไม่หาย ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย

          หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา โรคจะดำเนินสู่ระยะที่ 2 คือ ไข้จะขึ้นสูง 40 องศา หัวใจเต้นช้า เพ้อ บางครั้งผู้ป่วยอาจกระสับกระส่าย หรืออาจปรากฎจุดแดงคล้ายุงกัดที่หน้าอกส่วนล่างและท้อง เกิดอาการท้องเสียถ่ายบ่อยเป็นสีเขียว ม้ามและตับโตกว่าปกติ กดแล้วเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือท้องน้อยด้านขวา

          เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 3 ผู้ป่วยจะพบภาวะแทรกซ้อนทั้งตกเลือดในลำไส้ แต่ที่น่ากลัวก็คือ จะมีอาการลำไส้เล็กส่วนปลายทะลุ ซึ่งอาการนี้เป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ โดยไม่มีอาการใด ๆ เตือนล่วงหน้า นอกจากนี้ ในบางคนอาจเป็นสมองอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และมีฝีกระจายทั่วตัว จากนั้นในช่วงปลายของระยะที่ 3 ไข้จะเริ่มลดลงแล้ว แต่อาการยิ่งทรุดหนักไปจนถึงระยะที่ 4

          อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรายใดไม่มีอาการแทรกซ้อน แล้วรักษาได้ทัน ก็จะสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ร่างกายผู้ป่วยจะผ่ายผอมและทรุดโทรมลงอย่างมาก ต้องใช้เวลารักษาตัวอีกนาน

การวินิจฉัย โรคไทฟอยด์

          หากสงสัยว่าเป็นไทฟอยด์ แพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือด โดยอาจพบเชื้อนี้จากการเพาะเชื้อจากตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระของผู้ป่วย

ไข้รากสาดน้อย ไทฟอยด์
อุบัติการณ์ของโรคไทฟอยด์
สีแดง : ระบาดมาก , สีส้ม : ระบาด , สีเทา : กระจัดกระจาย

การรักษา โรคไทฟอยด์

          สำหรับโรคไทฟอยด์นั้น หากตรวจพบเร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ทันท่วงที โดยการรักษามีดังนี้

          1. ผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการท้องเดิน อาเจียนเล็กน้อย ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เช่นน้ำเกลือแร่ ทานอาหารเหลว เช่น น้ำแกง ข้าวต้ม เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป แต่หากผู้ป่วยไข้ขึ้นสูงมาก ชัก หรืออาเจียนมาก ควรเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

          2. หากผู้ป่วยอาการดีขึ้น ภายใน 4 ชั่วโมง เริ่มให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม หลังจากดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้อาหารและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

          3.หยุดให้น้ำเกลือแร่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เช่น ถ่ายน้อยลงแล้วเป็นต้น หลังจากนั้นให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม โดยรับประทานครั้งละน้อย ๆ และเพิ่มจำนวนมื้อ

          4.ไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น

          5.หากภายใน 3 วัน อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแทรกซ้อน ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ โดยหากตรวจพบว่าเป็นไทฟอยด์ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล หรืออะม็อกซีซิลลิน โดยต้องทานต่อเนื่องนาน 14 วัน

วิธีป้องกัน โรคไทฟอยด์

          เราสามารถป้องกันโรคไทฟอยด์ได้ง่าย ๆ ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

          1.งดเว้นการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม ควรทานอาหารที่ปรุงสด ๆ ใหม่ ๆ อยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด รวมทั้งดื่มน้ำที่ต้มสุกแล้ว

          2.ก่อนการปรุงอาหาร รับประทานอาหารทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาดก่อน

          3.ล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จแล้ว

          4.ผู้ประกอบอาหาร รวมทั้งพนักงานเสิร์ฟอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจับอาหาร หรือภาชนะ รวมทั้งหมั่นดูแลรักษาความสะอาดสถานที่ประกอบอาหาร ภาชนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และต้องกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารทุกวัน ไม่ให้สกปรก จนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์ต่าง ๆ แต่หากมีอาการอุจจาระร่วง ต้องหยุดงานจนกว่าจะหายดี หรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ

          5.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค รวมทั้งผู้ที่มีคนใกล้ชิดเป็นพาหะของโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น